วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555

'101 จุลจักรี 101 ปี จุลจอมเกล้า' ร่วมสำนึกในพระราชกรณียกิจพระพุทธเจ้าหลวง


'101 จุลจักรี 101 ปี จุลจอมเกล้า' ร่วมสำนึกในพระราชกรณียกิจพระพุทธเจ้าหลวง



        พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 5 พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงปกครองสยามประเทศและพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ราษฎรทุกหมู่เหล่า จนกระทั่งเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต สำหรับปีนี้ พ.ศ. 2554 เป็นปีที่ตรงกับวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครบ 101 ปี นับว่าน่ายินดีที่สำนักพิมพ์ 2325 ได้จัดพิมพ์หนังสือ “๑๐๑ จุลจักรี ๑๐๑ ปี จุลจอมเกล้า” เพื่อเผยแพร่พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจของพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ร่วมทรงงาน ตลอดจนเกร็ดประวัติของบุคคลที่อยู่เนื่องในราชสกุล ผ่านบุคคลที่มีฐานันดรศักดิ์ชั้นหม่อมหลวง ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ วัยทำงาน จำนวน 101 คน ที่น่าสนใจ คือ บางเรื่องราวอาจจะเป็นเรื่องที่เคยได้ยินได้ฟังมาขณะที่หลายเรื่องอาจจะไม่เคยมีปรากฏที่ไหนมาก่อน       
        สำหรับเนื้อหาหลักของหนังสือประกอบด้วย พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 101 ตอน  และเรื่องราวของพระบรมวงศานุวงศ์  (พระเจ้าน้องยาเธอ, พระเจ้าลูกเธอ ซึ่งเป็นองค์ต้นราชสกุลของผู้เล่าเรื่อง) และเรื่องราวของผู้เนื่องในพระราชวงศ์ ที่ร่วมทรงงานถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 101 ตอน  ขณะที่มีเรื่องของลำดับพระมหากษัตริย์ไทย และ ลำดับราชสกุลในพระราชวงศ์จักรี เป็นเนื้อหาประกอบด้วย      
        จุดเด่น ของหนังสือเล่มนี้ คือ การเล่าเรื่องราวและความประทับใจในพระราชกรณียกิจของพระพุทธเจ้าหลวงแต่ละด้านโดยฐานันดรศักดิ์ชั้นหม่อมหลวงจากหลากหลายอาชีพ อาทิ  บุคคลที่เป็นแพทย์ เล่าถึงพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์ และการพยาบาล บุคคลที่เป็นทนายความ เล่าเรื่องกฎหมาย และเรื่องที่มหาวิทยาลัยชื่อดังของอังกฤษได้ถวายปริญญาด้านกฎหมาย สถาปนิก เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสถาปัตยกรรม ข้าราชการกองทัพบก เล่าเรื่องการก่อตั้งโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ข้าราชการกรมส่งเสริมการส่งออก เล่าเรื่องการจำหน่ายสินค้าไทยให้ต่างประเทศ ศิลปิน ผู้สร้างงานศิลปะ เล่าถึงพระอุปนิสัยที่มองโลกด้วยสุนทรียภาพ ข้าราชการ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เล่าถึงพระราชบัญญัติการปกครองส่วนท้องถิ่นฉบับแรก การเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านเป็นครั้งแรก และสุขาภิบาลหัวเมืองเป็นครั้งแรก นักประชาสัมพันธ์ เล่าเรื่อง การฉายพระรูปร่วมกับผู้นำประเทศในยุโรป เผยแพร่ไปยังสื่อต่าง ๆ นักการธนาคาร เล่าถึง การก่อตั้งธนาคารที่เป็นของคนไทยเป็นครั้งแรก นักการเมือง เล่าเรื่องจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตย ผู้ที่สนใจรถยนต์ เล่าถึงการนำเข้ารถยนต์มาจำหน่ายในประเทศไทย หรือ นายตำรวจ เล่าเรื่องกิจการตำรวจ เป็นต้น       
       ตัวอย่างบางตอนจากหนังสือ เช่น ม.ล.จุฑายศ กัลยาณะวงศ์ เล่าว่า ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยมีพระราชดำรัสว่า “การพัฒนาคนด้วยการศึกษาจะเป็นหนทางให้ประเทศไทยก้าวหน้าได้” ซึ่งต่อมาพระองค์ทรงพระราชดำริให้ปฏิรูปการศึกษา โดยการสร้างโรงเรียนและสถานศึกษาเพิ่มขึ้นอีกหลาย ๆ แห่ง เพื่อให้ราษฎรมีความรู้โดยทั่วถึงเมื่อการศึกษาภายในประเทศดำเนินไปได้ระยะหนึ่ง พระองค์มีพระบรมราโชบายส่งพระราชโอรสและบุคคลที่มีความสามารถไปศึกษาที่ต่างประเทศ และพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่นักเรียนทุนก่อนออกไปศึกษา มีใจความว่า “ให้พึงนึกในใจว่าเราไม่ได้มาเรียนจะเป็นฝรั่ง เราเรียนเพื่อจะเป็นคนไทย ที่มีความรู้เสมอด้วยฝรั่ง เมืองเราเวลานี้ต้องการคนที่มีความรู้ ที่จะรับราชการในหน้าที่ต่าง ๆ แลประกอบการต่าง ๆ ทั่วไปเป็นอันมาก”  พระบรมราโชวาทนี้ เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนให้นักเรียนไทยทุกคนที่ไปเรียนต่างประเทศ กลับมาช่วยกันพัฒนาบ้านเมืองให้มีความเจริญทัดเทียมกับต่างชาติ        
        นพ.ม.ล.กรเกียรติ์ สนิทวงศ์ กล่าวว่า  ในฐานะพระมหากษัตริย์ที่มีอำนาจสิทธิขาดในการปกครองแผ่นดิน จึงไม่ได้มีกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดมาเรียกร้องสิทธิมนุษยชนให้มีการเลิกทาส แต่พระราชดำริเรื่องการเลิกทาสเป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จะให้ราษฎรของประเทศสยามมีความเท่าเทียมกัน       
       การที่จะทำให้สำเร็จได้นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะว่าผู้ที่จะเสียผลประโยชน์ก็คือผู้ที่มียศฐาบรรดาศักดิ์อยู่ใกล้ชิดพระองค์ เพราะฉะนั้นการที่จะนำพระราชดำริมาสู่การปฏิบัติได้นั้น พระองค์ก็ต้องไม่เกรงใจคนที่อยู่รอบข้าง และต้องมีการวางแผนทำเป็นขั้นตอน เพื่อให้คนไทยค่อยๆ ยอมรับ ไม่นำไปสู่เหตุการณ์ที่รุนแรง หรือการเสียเลือดเสียเนื้อ         
        ในยุคสมัยของการล่าอาณานิคม ทรงนำประเทศสยามทัดเทียมกับอารยประเทศโดยใช้กุศโลบายหลายอย่างหลายประการ แต่โดยส่วนตัวที่ประทับใจเป็นพิเศษคือ การเสด็จประพาสต้น พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาข้อมูลและศึกษาความเป็นอยู่ของราษฎรด้วยพระองค์เอง ไม่ได้รับฟังจากคนรอบข้างที่ถวายรายงานเพียงอย่างเดียว        
        ผศ.ม.ล.ศิริพัสตร์ ไชยันต์ กล่าวว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักปกครองและผู้บริหาร ทรงสร้างพื้นฐานของการพัฒนาประเทศของเราด้วยการสร้างความสามัคคีให้กับคนทุกระดับ ทรงคัดเลือกบุคคลให้ปฏิบัติงานตามความสามารถ และสร้างทีมงานที่ดีเพื่อให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจและทุ่มเทกับการทำงาน ทรงสร้างระบบการทำงานที่ดีให้แก่ทุกหน่วยงาน เพื่อให้ข้าราชการทำหน้าที่รับใช้แผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประชาชน อันจะทำให้ประชาชนได้ทำหน้าที่พลเมืองที่ดี        
         สิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศของเราเจริญรุ่งเรือง โดยส่วนตัวดิฉันก็ได้นำหลักการมาเป็นแบบอย่างและจะสืบสานพระราชปณิธานของ “สมเด็จพระปิยมหาราช” ต่อไป        
        ยังมีความประทับใจในพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกมากมายที่รอให้เปิดอ่านจากหนังสือ “๑๐๑ จุลจักรี ๑๐๑ ปี จุลจอมเกล้า” เพื่อมีส่วนร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านได้พระราชทานไว้  ทั้งนี้ทางสำนักพิมพ์ 2325 แจ้งมาว่า รายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายหนังสือเล่มนี้จะนำมาจัดพิมพ์หนังสือเพิ่มอีกจำนวน  500 เล่ม เพื่อมอบให้แก่ห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารีทั่วประเทศ

       อรนุช  วานิชทวีวัฒน์